Sunday, November 25, 2007

นวัตกรรมการสอน,แบบมอนเตสเชอรี่


หลักสูตรการสอนแบบมอนเตสซอรี่
Montessori

หลักสูตรการสอนแบบมอนเตสซอรี่ ดร.มาเรีย มอนเตสซอรี่ ผู้ริเริ่มคิดและจัดตั้งวิธีการสอนแบบมอนเตสซอรี่ จากความเชื่อในการจัดการศึกษาให้แก่เด็กในระยะเริ่มต้นว่า จุดมุ่งหมายในการให้การศึกษาในระยะแรกนั้น ไม่ใช่การเอาความรู้ไปบอกให้เด็ก แต่ควรเป็นการปลูกฝังให้เด็กได้เจริญเติบโตไปตามความต้องการตามธรรมชาติของเขา

การที่จะช่วยให้เด็กได้เจริญเติบโตไปตามขั้นตอนของความสามารถนั้น ควรจะต้องพัฒนาการสอนให้สัมพันธ์กับพัฒนาการความต้องการของเด็ก ที่ต้องการจะเป็นอิสระในขอบเขตที่กำหนดไว้ให้ ตลอดจนการจัดสิ่งแวดล้อมอย่างสมบูรณ์ และพิถีพิถัน การสอนแบบมอนเตสซอรี่ ได้มาจากการที่มอนเตสซอรี่ได้สังเกตเด็กในสภาพที่เป็นจริงของเด็ก ไม่ใช่สภาพที่ผู้ใหญ่ต้องการให้เด็กเป็น จากการสังเกตเด็กจึงได้พัฒนาวิธีการสอน การจัดเตรียมสิ่งแวดล้อม และอุปกรณ์การสอนต่างๆ ขึ้นมาใช้ โดยเริ่มต้นจากการทดลองที่โรงเรียนที่มอนเตสซอรี่เข้าไปรับผิดชอบ ที่เรียกว่า Casa Dei Bambini หรือ Children's House แล้ววิธีการสอนนี้จึงได้แพร่หลายต่อไปจนทั่วโลกเช่นในปัจจุบัน

ปรัชญาและหลักการของการสอนแบบมอนเตสซอรี่

1. เด็กจะต้องได้รับการยอมรับนับถือ เด็กจะต้องได้รับการยอมรับนับถือในสภาพที่แตกต่างไปจากผู้ใหญ่ เราต้องยอมรับนับถือเด็กในลักษณะเฉพาะของเด็กแต่ละคน เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ควรจัดการศึกษาให้เด็กแต่ละคนตามความสามารถ และความต้องการตามธรรมชาติของเขา โดยการพัฒนาการสอนให้สัมพันธ์กับพัฒนาการความต้องการของเด็ก

2. เด็กที่มีจิตซึมซาบได้ มนุษย์เรานี้เป็นผู้ให้การศึกษาแก่ตนเอง และเปรียบจิตของเด็กเหมือนฟองน้ำ ซึ่งจะซึมซาบข้อมูลจากสิ่งแวดล้อม เด็กใช้จิตในการหาความรู้ ซึมซาบเอาสิ่งต่างๆ เข้าไปในจิตของตนเองได้ ( the absorbent mind ) ในการพัฒนาของจิตที่ซึมซาบได้มีทั้งระดับที่เราทำไปโดยที่รู้สึกตัว และโดยไม่รู้สึกตัว อายุตั้งแต่เกิดถึง 3 ขวบ เป็นช่วงที่จิตซึมซาบโดยไร้ความรู้สึก โดยการพัฒนาประสาทที่ใช้ในการเห็น การได้ยิน การลิ้มรส การดมกลิ่น และการสัมผัส เด็กจะซึมซาบทุกสิ่งทุกอย่าง

3. ช่วงเวลาหลักของชีวิต คือ คือช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด สำหรับการเรียนรู้ในระยะแรกเป็นช่วงพัฒนาสติปัญญา และเด็กสามารถเรียนทักษะเฉพาะอย่างได้อย่างดี ครูจะต้องช่างสังเกต และใช้ประโยชน์จากช่วงเวลานี้ในการจัดการเรียนการสอนให้สมบูรณ์ที่สุด
4. การเตรียมสิ่งแวดล้อม มอนเตสซอรี่เชื่อว่า เด็กเรียนได้ดีที่สุดในสภาพการจัดสิ่งแวดล้อมที่ได้ตระเตรียมเอาไว้อย่างมีจุดหมาย การจัดเตรียมสิ่งแวดล้อมเช่นนี้เพื่อให้เด็กได้มีอิสระจากการควบคุมของผู้ใหญ่ เด็กจะได้ทำกิจกรรมต่างๆ ตามความคิดของตนเองบ้าง

5. การศึกษาด้วยตนเอง เด็กสามารถเรียนได้ด้วยตนเองจากการที่เด็กมีอิสระในสิ่งแวดล้อมที่จัดเตรียมไว้อย่างสมบรูณ์ การมีอิสระนี้มอนเตสซอรี่กล่าวว่า ไม่ใช่สัญลักษณ์ของเสรีภาพเท่านั้น แต่หมายถึงเส้นทางไปสู่การศึกษา เด็กมีสิทธิ์ที่จะเรียนรู้ ระเบียบวินัยของชีวิตโดยการมีอิสระภาพในการทำงานด้วยตนเอง แก้ไขข้อบกพร่องของตนเอง

การศึกษาด้วยตนเอง ควรจะมีบทบาทมากขึ้นในวงการศึกษา และควรจะเน้นเด็กเป็นศูนย์กลางในการเรียนเพิ่มขึ้น ลดวิธีการให้ครูเป็นศูนย์กลางในการเรียน

จุดมุ่งหมายของการสอนแบบมอนเตสซอรี่
จุดมุ่งหมายของการศึกษาแบบมอนเตสซอรี่ คือ “ ช่วยพัฒนา หรือให้เด็กมีอิสระในด้านบุคลิกภาพของเด็กในวิถีทางต่างๆ อย่างมากมาย “ สิ่งแวดล้อมของโรงเรียนระบบมอนเตสซอรี่ คือ การจัดระบบเพื่อสะท้อนถึงศักยภาพที่แท้จริง และความต้องการของเด็ก เพื่อเด็กจะได้พัฒนาบุคลิกภาพของเขา ลักษณะการสอนระบบนี้ เด็กจะก้าวหน้าไปตามธรรมชาติของการพัฒนาการของเด็ก เด็กมีอิสรภาพในการเลือกจากสิ่งแวดล้อมที่มีสิ่งต่างๆ ซึ่งสนองความพอใจ และความต้องการภายในความรู้สึกของเขา เป็นการจัดระบบของตนเอง เพื่อเด็กจะได้ปรับตัวเข้ากับสภาพของชีวิต

มอนเตสซอรี่ กล่าวย้ำถึงสิทธิของเด็กในการพัฒนาบุคลิกภาพของเขาในการเรียน สิทธิที่จะมีอิสระในการทำกิจกรรม สำรวจโลกสำหรับตัวของเขาเอง และก็เรียกร้องสิทธิในการที่จะมีสภาพการทำงานที่เหมาะสม
เด็กปกติในสิ่งแวดล้อมของมอนเตสซอรี่ จะพัฒนาการเรียนรู้ในการทำงานด้วยตนเอง และความรู้สึกของความรับผิดชอบ มีวิธีการที่จะควบคุมตนเองได้สำเร็จ เด็กเรียนรู้ในการที่จะรับผิดชอบต่อตนเองเป็นเบื้องแรก แล้วก็ต่อสภาพการณ์ต่างๆ ที่ทำให้เขาได้พบตัวของเขาเอง

การพัฒนาการทางสังคมสำเร็จได้ ก็ด้วยการมีชีวิตทางสังคมที่แท้จริงในห้องเรียน เด็กเรียนรู้ที่จะทำหน้าที่ของแต่ละบุคคล และในสภาพของการเป็นสมาชิกของกลุ่ม และมีส่วนร่วมในการที่จะต้องรับผิดชอบ และรู้จักที่จะรอคอยความสำเร็จของการศึกษาแบบมอนเตสซอรี่ พัฒนาการทางด้านอารมณ์ และการปรับตัวทางด้านสังคมมีส่วนร่วมอยู่มาก บุคลิกภาพทั้งหมดของเด็กจะได้รับการพัฒนา … สติปัญญา ความสามารถในการแยกแยะ ความคิดริเริ่ม และการเลือกอย่างอิสระ มีอารมณ์ที่เหมาะสม เด็กได้รับการฝึกให้มีคุณภาพพื้นฐานทางสังคม ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นพลเมืองดี

หลักสูตรของการสอนแบบมอนเตสซอรี่
วิถีทางของการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่นั้น เป็นหลักการที่คำนึงถึงเด็ก ความต้องการของเด็กในการเรียน ได้มีการตระเตรียมสิ่งแวดล้อมให้เด็กได้ทำงานด้วยตนเอง สิ่งแวดล้อม และเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ นั้น ได้จัดระบบไว้เพื่อให้เด็กได้พัฒนาตนเอง โปรแกรมจัดเอาไว้ให้เด็กได้เป็นผู้เรียนที่มีอิสระ การควบคุมความผิดพลาดในการทำงานก็ด้วยการใช้วัสดุเหล่านั้นเอง และสิ่งแวดล้อมที่จัดเอาไว้ให้นี้เองเป็นตัวที่ทำให้เด็กมีอิสระ

มอนเตสซอรี่เชื่อว่า การที่เด็กได้เรียนรู้ตามความต้องการด้วยตนเอง และการซึมซาบการเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อม จะทำให้เด็กได้ในสิ่งที่ต้องการจากการเรียนรู้ เด็กจะได้รับเสรีภาพในขอบเขตที่จำกัด จากสิ่งแวดล้อมที่ได้ตระเตรียมเอาไว้ให้ และจะทำให้เด็กได้รับผลสำเร็จตามความต้องการของเขา
หลักสูตรพื้นฐานสำหรับเด็กอายุ 3 ถึง 6 ขวบ แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่:การศึกษาทางด้านทักษะกลไก (Motor Education) การศึกษาทางด้านประสาทสัมผัส (Education of the Senses) และการตระเตรียมสำหรับการเขียนและคณิตศาสตร์ (Preparation for Writing and Arithmetic)

การจัดการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่
โรงเรียนที่ใช้การสอนแบบมอนเตสซอรี่นั้น กิจกรรมถือเป็นส่วนสำคัญของสิ่งต่างๆ ที่ดำเดินไปในโรงเรียน มอนเตสซอรี่เชื่อว่า เด็กเล็กควรจะเรียนด้วยร่างกายทั้งหมดโดยเน้นทางด้านการฝึกฝนทางประสาทสัมผัส กิจกรรม หรืองานที่เด็กทำจะต้องมีความหมาย

อุปกรณ์การเรียนได้วางรูปแบบเอาไว้ให้เด็กได้ทำงานต่างๆ เป็นไปตามขั้นตอนงานจะกระตุ้นทำให้เด็กทำงานต่อไป การเขียนก็เป็นจุดรวมของทั้งการเห็น การได้ยินและการสัมผัส การแสดงออกทางการเขียนจะผ่านขั้นตอนต่างๆ จากการสัมผัสรูปทรงเลขาคณิตสัมผัสรูปพยัญชนะ สระ จากบัตรตัวอักษรกระดาษทราย ใช้ดินสอสีลากไปตามกรอบแผ่นภาพโลหะ และเติมลายเส้นไปในกรอบแผ่นภาพโลหะที่ว่างเอาไว้ ประdv[โดยใช้ตัวอักษรต่างๆ และเขียนคำลำดับจากรูปธรรมไปสู่นามธรรมนี้ เป็นอุปกรณ์การเรียน
ในการทำงาน ครูจะต้องคอยสังเกตว่าเด็กพร้อมที่จะเรียนอุปกรณ์ในขั้นต่อไปหรือยังตามลำดับยากง่าย หรือตามที่นกเรียนร้องขอ การแสดงอุปกรณ์มี 3 ขั้นตอนด้วยกัน คือ

ขั้นที่ 1 เชื่อมโยงการรับรู้ทางประสาทสัมผัสกับชื่อ ….” นี่คือ แขนงไม้ ”

ขั้นที่ 2 รู้จักชื่อของสิ่งของ …” หยิบแขนงไม้มาให้ครูซิ ”

ขั้นที่ 3 จำชื่อได้สอดคล้องกับอุปกรณ์ …” นี่คือ อะไร ”
ขั้นตอนนี้ จะใช้เมื่อเด็กเรียนรู้ชื่อของอุปกรณ์ คุณภาพ หรือประสบการณ์ บทเรียนนั้นจะมีลักษณะสั้น ง่าย และเป็นปรนัย ถ้าเด็กหยิบอุปกรณ์ไม่ถูกก็ต้องหยิบออกไปแล้วให้เด็กรอโอกาสทำต่อไป

วิธีการสอนสามขั้นตอน ( The Three-Period Lesson )
เป็นวิธีการที่ใช้สำหรับสอนความคิดรวบยอดใหม่ด้วยการทำซ้ำ เพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจในแบบฝึกหัดที่ครูสาธิตให้ดูได้ดีขึ้น การสอนนี้ยังช่วยให้ครูสังเกตเห็นว่าเด็กสามารถเข้าใจ และซึมซาบสิ่งที่สาธิตให้เด็กดูได้ว่องไวแค่ไหน วิธีการสอนสามขั้นตอนนี้ใช้กับการสาธิตขั้นตอน เมื่อเด็กไม่เข้าใจขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งจะต้องเริ่มสาธิตให้ดูใหม่ครูต้องแน่ใจว่า เด็กเข้าใจในสิ่งที่ทำให้ดูแล้ว จึงจะดำเนินขั้นต่อไป

วิธีการสอนสามขั้นตอนดังกล่าว Hainstock อธิบายไว้ ดังนี้

ขั้นแรก สังเกตเห็นลักษณะเฉพาะของสิ่งนั้น ( Recognition of Identity ) ทำให้เชื่อมโยงสิ่งที่ครูสาธิตให้ดูกับชื่อของสิ่งนั้นได้ “ นี่ คือ …”

ขั้นสอง สังเกตเห็นความแตกต่าง ( Recognition of Contrasts ) มั่นใจว่า เด็กเข้าใจเมื่อบอกเด็กว่า “ หยิบ …”

ขั้นสาม เห็นความแตกต่างระหว่างสิ่งของที่มีความคล้ายคลึงกัน ( Discrimination Between Similar Objects ) ขั้นตอนนี้เพื่อที่จะได้ทราบว่าเด็กจำชื่อสิ่งต่างๆ ที่ครูสาธิตให้ดูได้หรือเปล่า เช่น ชี้ที่ของหลายๆ สิ่ง แล้วถามว่า “ อันไหน คือ …”

นวัตกรรมแห่งการเรียนรู้

มอนเตสซอรี่ Montessori
เป็นรูปแบบการสอนเด็กเล็กที่ริเริ่มโดย ดร.มาเรีย มอนเตสซอรี่ จิตแพทย์ชาวอิตาเลียน การให้การศึกษากับเด็กในระยะเริ่มต้น จึงควรเป็นการปลูกฝังให้เด็กได้เติบโตไปตามความต้องการตามธรรมชาติ โดยในครั้งแรกได้เริ่มต้นนำแนวการสอนนี้ไปใช้กับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา เนื่องจากเล็งเห็นว่าเด็กเหล่านั้นก็มีความสามารถเรียนรู้ได้เช่นเดียวกับเด็กปกติ ซึ่งมีความเชื่อว่าการศึกษาของแต่ละคนจะเกิดขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับตัวเขาเองเป็นคนทำให้เกิดหรือไม่ให้เกิด ไม่ใช่การได้รับการศึกษาโดยคนอื่น มอนเตสซอรี่จะเน้นมากเรื่องการจัดสภาพแวดล้อมอย่างสมบูรณ์และพิถีพิถัน เพื่อให้เด็กสามารถดึงศักยภาพที่มีอยู่ในตัวของพวกเขาให้ปรากฏออกมา
การสอนแนวนี้จะเปิดโอกาสให้เด็กได้ค้นพบสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง โดยเน้นการฝึกฝนทางด้านประสาทสัมผัส มือทั้งสองข้างของเด็กๆ ซึ่งถือว่าเป็นครูคนสำคัญของเด็ก และแนวคิดนี้เชื่อว่าถ้าเด็กได้มีบางสิ่งบางอย่างที่ จะจับต้องและบิดหรือหมุนด้วยมือ สมองจะทำหน้าที่ตอบสนองได้ วัสดุอุปกรณ์ จึงจัดว่าเป็นหัวใจสำคัญในการสอนแนวนี้ ความมีอิสรภาพ การศึกษาด้วยตนเอง และการฝึกฝนทางประสาทสัมผัสนี้เอง คือจุดสำคัญของการสอนแนวมอนเตสซอรี่ ที่ใช้กันทั่วโลกจนถึงปัจจุบันกว่า 92 ปี
หลักการสำคัญ 5 ประการของหลักสูตรมอนเตสซอรี่
หนึ่ง เด็กจะต้องได้รับการยอมรับนับถือ (Respect for the Child) ในสภาพที่แตกต่างไปจากผู้ใหญ่ ตามลักษณะเฉพาะตัวและความแตกต่างของพวกเขา
สอง เด็กมีจิตที่ซึมซาบได้ จิตของเด็กเหมือนฟองน้ำ ซึ่งจะซึมซาบข้อมูลจากสิ่งแวดล้อม (Absorbent mind)
สาม ช่วงตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 6 ขวบ คือช่วงเวลาหลักของชีวิต (Sensitive Periods) คือช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดสำหรับการเรียนรู้ในระยะแรก เชื่อว่าเป็นช่วงเวลาที่สติปัญญาของคนเริ่มพัฒนา
สี่ การเตรียมสิ่งแวดล้อม เด็กเรียนได้ดีที่สุดในสภาพการจัดสิ่งแวดล้อมที่ได้ตระเตรียมเอาไว้อย่างมีจุดมุ่งหมาย เด็กจะได้ทำกิจกรรมต่างๆ ตามความคิดของตนเองอย่างมีอิสระ (Prepared Environment)
ห้า การศึกษาด้วยตนเอง (Self or auto-Education) เด็กสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองตามสภาพแวดล้อมที่เตรียมไว้อย่างสมบูรณ์ มีอิสรภาพในการทำงาน และมีโอกาสแก้ไขข้อบกพร่อง
มอนเตสซอรี่จัดการศึกษาที่สอดคล้องกับแนวคิดนี้และเน้นให้การศึกษาเด็กเป็นรายบุคคล ตามความสามารถ และความต้องการตามธรรมชาติ โดยจัดหลักสูตรพื้นฐานสำหรับเด็กอายุ 3-6 ขวบไว้ 3 กลุ่มใหญ่ด้วยกัน คือ การศึกษาทางด้านทักษะกลไก (Moter Education) การศึกษาทางด้านประสาทสัมผัส (Education of Sensis) และการตระเตรียมสำหรับการเขียนและคณิตศาสตร์ (Education for Writing and Arithmetic)
การจัดชั้นเรียนจะคละอายุเด็ก โดยจัดให้ช่วงอายุห่างกัน 3 ปีในแต่ละชั้น เพื่อให้เด็กได้รู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อุปกรณ์ที่ใช้ในการสอนแต่ละชิ้นมีจุดมุ่งหมายเฉพาะในการใช้ และผ่านการพิสูจน์แล้วว่าเด็กชอบสนใจ เหมาะกับวัย และพัฒนาการของพวกเขาครอบคลุมหลักสูตรพื้นฐานทั้ง 3 กลุ่มหลัก คือมีอุปกรณ์กลุ่มศึกษาทางด้านทักษะกลไก เช่นอุปกรณ์สำหรับการซักและรีดผ้า อุปกรณ์ทางด้านประสาทสัมผัส เช่น ทรงกระบอกมีจุกสำหรับประสาทสัมผัสในเรื่องของมิติ ระฆังทองเหลืองสำหรับฝึกประสาทสัมผัสทางหู และอุปกรณ์ศึกษาทางวิชาการ เช่น อักษรกระดาษทราย กล่องนับแท่งไม้
ซึ่งโรงเรียนมอนเตสซอรี่ทั่วโลกจะใช้อุปกรณ์การสอนแบบเดียวกันทั้งหมดขณะเดียวกัน ก็มีการอนุโลมให้ใช้อุปกรณ์ บางอย่างที่ทำจากวัสดุท้องถิ่น แต่ต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ทางการเรียนรู้ที่กำหนด
ห้องเรียนของการสอนแนวนี้จะมีลักษณะพิเศษคือเปิดโล่ง เด็กจะได้ทำกิจกรรมอย่างอิสระ ตามความต้องการของตน ในห้องเรียนจะไม่มีโต๊ะและเก้าอี้ครูภายในห้องมีชั้นวางของ ซึ่งอยู่ในระดับสายตา บนชั้นมีอุปกรณ์มอนเตสซอรี่จัดวางไว้ เป็นหมวดหมู่ มีตำแหน่งการวางที่แน่นอน เพียงหนึ่งชิ้นต่อหนึ่งอุปกรณ์เพื่อฝึกให้เด็กรู้จักรอคอย
ครูผู้สอนจะต้องเข้ารับการฝึกอบรมเกี่ยวกับวิธีการสอนจากศูนย์ฝึกอบรมครูของ ระบบการสอน แบบมอนเตสซอรี่ โดยศึกษาหลักสูตร 1 ปี และฝึกงานในโรงเรียน 1 ปี เมื่อผ่านการประเมินจะได้รับประกาศนียบัตรเพื่อเป็นครูในระบบนี้ต่อไป ครูจะใช้วิธีการสอนสามขั้นตอน ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้สำหรับสอนความคิดรวบยอดใหม่ ด้วยการทำซ้ำ ประกอบด้วยขั้นแรก สังเกตเห็นลักษณะเฉพาะของสิ่งนั้น ทำเชื่อมโยงกับสิ่งที่ครูสาธิตให้ดูกับชื่อสิ่งนั้นได้ขั้นสอง สังเกตเห็นความแตกต่าง มั่นใจว่าเด็กเข้าใจในสิ่งที่ครูบอกขั้นสาม เห็นความแตกต่างระหว่างสิ่งของที่มีความคล้ายคลึงกัน ขั้นตอนนี้เพื่อที่จะได้ทราบว่าเด็กจำชื่อสิ่งต่างๆ ที่ครูสาธิตให้ดูได้หรือไม่
การประเมินผลของระบบมอนเตสซอรี่จะใช้การสังเกตความสามารถในการทำกิจกรรม ของเด็กในแต่ละกลุ่มวิชาการใช้อุปกรณ์การเรียนในแต่ละชิ้นส่วนใหญ่จะส่งผลงาน ของนักเรียน ไปให้ผู้ปกครองทุกวันศุกร์ และกำหนดช่วงเวลาให้ผู้ปกครองมาสังเกตการเรียนการสอนของโรงเรียน
อย่างไรก็ตามแม้จะได้รับการพูดถึงข้อดีตรงกันในเรื่องของการให้อิสระ การสร้างวินัยในตนเอง และทำให้เด็กเกิดสมาธิ แต่ประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก คือการไม่เปิดโอกาสให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กันอันเกิดจากการจัดชั้นเรียน และการจัดการเรียนการสอน ที่เน้นการทำงานเป็นรายบุคคล และการไม่ส่งเสริมให้เด็กเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เนื่องจากเด็กจะต้องทำตามการสาธิตการใช้อุปกรณ์ของครูซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนทำได้

Thursday, November 22, 2007

นวัตกรรมการศึกษาปฐมวัย

ปรัชญาการศึกษาปฐมวัย
การศึกษาปฐมวัยเป็นการพัฒนาเด็ก ตั้งแต่แรกเกิดถึง ๕ ปี บนพื้นฐาน การอบรมเลี้ยงดูและการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ ที่สนองต่อธรรมชาติ และพัฒนาการของเด็กแต่ละคน ตาม ศักยภาพ ภายใต้บริบทสังคม-วัฒนธรรม ที่เด็กอาศัยอยู่ ด้วยความรัก ความเอื้ออาทร และความเข้าใจของทุกคน เพื่อสร้างรากฐานคุณภาพชีวิตให้เด็กพัฒนาไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เกิดคุณค่าต่อตนเองและสังคม
หลักการ
เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการอบรมเลี้ยงดูและส่งเสริมพัฒนาการ ตลอดจนการเรียนรู้อย่างเหมาะสม ด้วยปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็กกับพ่อแม่ เด็กกับผู้เลี้ยงดูหรือบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษาเด็กปฐมวัยเพื่อให้เด็กมีโอกาสพัฒนาตนเองตามลำดับขั้นของพัฒนาการทุกด้าน อย่างสมดุลและเต็มตามศักยภาพ โดยกำหนดหลักการ ดังนี้
๑.ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาการที่ครอบคลุมเด็กปฐมวัยทุกประเภท
๒.ยึดหลักการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษาที่เน้นเด็กเป็นสำคัญ โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล และวิถีชีวิตของเด็กตามบริบทของชุมชน สังคม และวัฒนธรรมไทย
๓.พัฒนาเด็กโดยองค์รวมผ่านการเล่นและกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัย
๔.จัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้สามารถดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข
๕.ประสานความร่วมมือระหว่างครอบครัว ชุมชน และสถานศึกษาในการพัฒนาเด็ก